Translate

วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

พัฒนาเกม RPG บน android ด้วย AndEngine (1)




เกมส์ Classic RPG เป็นเกมส์ที่ผมใฝ่ฝันจะทำตั้งแต่ 20 ปีก่อน ตอนเริ่มหัดภาษา C++ ใหม่ๆ 
ทุกวันนี้ยังไม่เป็นชิ้นเป็นอันอะไรเลย พอดีมาสู่ยุค Smart Phone ก็รื้อความฝันเดิมมาทำเสียหน่อย

วันนี้จะมาแนะนำการพัฒนาเกมส์แบบ Classic RPG บน android กันครับ (ผมเรียกว่า classic เพราะเป็นแบบ 2d มุมมองด้านบนที่ไม่ใช่ iso น่ะครับ) ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เราสามารถใช้ library ของ Android SDK ที่มีมาให้ก็ได้เหมือนกัน แต่มันใช้เวลานาน และขั้นตอนยุ่งยากครับ

ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการหา Game Engine มาช่วยให้ขั้นตอนต่างๆ ลดลง พัฒนาแอพที่ต้องใช้ความสามารถของ Graphic , OpenGL ได้ง่ายขึ้น ที่ผมหาๆ อยู่ก็มีหลายตัวครับ และมุ่งเน้นไปที่การใช้งานแบบ Open Source เป็นหลักครับ

มีคนรวบรวม Library ของ OpenGL และพัฒนามันขึ้นเป็น Game Engine อยู่หลายเจ้าครับ ต้องขอบคุณคนเหล่านั้นจริงๆ เพราะถ้าไม่มีคนที่อุทิศตัวทำเรื่องแบบนี้แล้ว ความรู้ในโลกจะคืบหน้าได้ช้าจริงๆ ครับ เพราะฉะนั้น ถ้าพัฒนา Software ด้วย Open Source อะไรก็แล้วแต่ มีเงินก็น่าจะบริจาคกลับให้ผู้พัฒนาตามกำลังศรัทธาก็ดีนะครับ

กลับมาที่ Game Engine ที่ผมหามาจะมีอยู่ 2 ประเภท เพื่อสร้างเกมครับ

  • แบบ 2D ผมจะใช้ของ AndEngine ของคุณ Nicolas Gramlich 
  • แบบ 3D ผมจะใช้ของ JPCT ของคุณ Helge Foerster 

ซึ่งในบทความนี้จะพูดคุยเกี่ยวกับ AndEngine กันนะครับ

ที่อยู่ก่อนเลยครับ http://www.andengine.org/

และแน่นอน การเขียนบทความ Tutorial ของผม จะเขียนแบบ Open Workshop คือ พัฒนา Project ตามใจผู้เรียนรู้ ภายในกรอบของตัวอย่างงาน และนี่คือโจทย์ตัวอย่างงานของบทความชุดนี้ครับ





ปุ่มควบคุมเดิมๆ ครับ Control Direction ด้านขวา และ ปุ่มอีก 2 ปุ่มด้านซ้าย (จะเปลี่ยนจะเพิ่มเดี๋ยวบอกรายละเอียดใน Open Workshop ครับ)

ไป Download มา Run กันก่อนได้เลยครับ อันนี้เป็น Project ผมที่อยู่บน GitHub โดย Project นี้ก็จะเป็นการผสม ยำ รวมมิตร tutorial ของหลายๆ ที่ออกมาเป็น project ให้ได้เห็นแนวทางกันครับ

สิ่งที่ต้องมีในการพัฒนานะครับ
  1. Tiled Map Editor ครับ ไป Download กันมาได้เลย http://www.mapeditor.org/ อันนี้จำเป็นมากนะครับ เพื่อต่อยอดงาน RPG ในอนาคต มีหลายส่วนต้องอธิบายเช่นกัน
  2. Eclipse & Android SDK อันนี้คงมีอยู่แล้วใช่มั้ยครับ ถ้าไม่มีก็ download bundle SDK ได้เลยครับ ที่นี่ครับ http://developer.android.com/sdk/index.html
  3. AndEngine ครับ จริงๆ ใน Project จะมีให้อยู่แล้วอ่ะครับ แต่ถ้าใครอยากโหลดตัว Source เลย เพื่อมา modify (Project RPG อันนี้ของผม ก็มีการ Modify source นิดหน่อยเพื่อการใช้งานนะครับ เพราะฉะนั้น ถ้าท่านโหลด source มา lib จะเป็นคนละตัวแล้วครับ เพราะผมเอามา build ใหม่ครับ) ที่นี่ครับ https://github.com/nicolasgramlich/AndEngine
เมื่อโหลดมาแล้ว สิ่งที่ต้องเตรียมต่อไป เพื่อการทำ Open Workshop ในครั้งนี้นะครับ
  1. สร้าง Android Project เปล่าๆ ใหม่ 1 Project ครับ ใครสร้างไม่เป็นทางนี้ครับ http://pilotpol.blogspot.com/2013/05/android-thai-pilot-pray-3.html
  2. สร้าง Project ของ ตัวอย่างงาน RPG จากที่ download ไป Project ชื่อ testgame นะครับ สร้างได้ตามนี้ครับ http://pilotpol.blogspot.com/2013/05/android-thai-pilot-pray-5.html เปลี่ยนชื่อ project และตำแหน่งไฟล์เอา
ก็เท่านี้ก่อนครับ บทความหน้าจะมาเริ่ม Open Workshop กันล่ะ



วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

[Android] พัฒนาแอพจากแอพจริง Thai Pilot Pray (5)

ช่วงนี้กำลังอยู่ในระหว่างตกงาน ก็ต้องรีบ update บทความหน่อย ตอนที่มีเวลาพอจะทำได้

ในบทความนี้ ผมจะเริ่มอธิบาย Project Thai Pilot Pray พร้อมทั้งแนะนำการพัฒนา แบบเป็นขั้นตอนไปนะครับ และก็จะเสริมลักษณะการใช้คำสั่ง Java ที่เกี่ยวข้องกับ Code ในส่วนนั้นๆ ด้วย

ใครที่เพิ่งเข้ามาอ่าน แล้วเจอหน้านี้เลย และอยากพัฒนา Android ตามไปทีละขั้น ก็ลอง Download ตัวแอพ และ Source code ได้ตามนี้ครับ




การอธิบายการพัฒนาในแบบของผม จะไม่ใช้อธิบายแบบ สร้าง Project จากของเดิม แล้วมานั่งบอกว่าบรรทัดนี้คืออะไรแบบนั้นนะครับ แต่ผมจะใช้วิธีให้คุณสร้าง Project ใหม่ขึ้นมา ตั้งชื่อแบบที่คุณต้องการ แล้วค่อยๆ copy โค้ดหลัก มาบางส่วนครับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณต้องเตรียมจะมีดังนี้ครับ
  1. เตรียม android developer tools ให้พร้อม ดูได้จากที่นี่ครับ
    http://pilotpol.blogspot.com/2013/05/android-thai-pilot-pray-2.html
  2. สร้าง Project ใหม่เปล่าๆ เป็นแล้ว โดย ดูได้จากที่นี่ครับ
    http://pilotpol.blogspot.com/2013/05/android-thai-pilot-pray-3.html
  3. ลง Project Thai Pilot Pray ในเครื่อง และมีรายชื่อใน Package Explorer แล้ว อันนี้เดี๋ยวจะบอกครับ

เริ่มกันเลย...

เมื่อ Download ตัว Source code ของ Thai Pilot Pray แล้วนะครับ ขั้นต่อไปก็แตก zip ไฟล์ไปไว้ในที่ใดที่หนึ่ง แล้วเปิดโปรแกรม Eclipse (Android Developer Tools) ขึ้นมาครับ

ที่ icon ริมซ้ายสุด กดปุ่มลูกศรลง แล้วเลือก Project...
หรือจะเลือกที่ File > New > Project.. ก็ได้ครับ


จะมี Dialog ขึ้นมา ให้เลือกอันที่ 2 ตามภาพครับ
Android Project from Existing Code แล้ว Next

ก็จะมาหน้า Import Project ครับ เลือกไฟล์ Project ที่ Download มา ตามลำดับในภาพเลยครับ

1. Browse... เพื่อค้นหา Folder ที่แตก zip เรียบร้อยแล้ว
2. ติ๊กเลือกชื่อ Project ที่ Project to Import (ในที่นี้ของผมมี Project นี้อยู่แล้วเลยเลือกไม่ได้ครับ)
3. ติ๊กเลือก ถ้าต้องการให้ Copy Code ทั้งหมดไปไว้ใน workspace (ที่เก็บไฟล์ Project ต่างๆ ที่ Eclipse สร้างขึ้นมาตอนแรกครับ)
4. Finish เลยครับ

รวมกับบทความแรก ตอนนี้ที่ Package Explorer (ต่างแถบหน้าต่างด้านซ้าย ถ้าใครไม่มีกดเปิดได้ที่ Window > Show view > Package Explorer นะครับ) ของทุกท่านควรจะมี 2 Project ที่ต้องใช้งานคือ New Project เปล่าๆ ที่ท่านสร้างขึ้นเอง ชื่อก็ตามแต่จะตั้งครับ และ Thai Pilot Pray Project นะครับ ใครที่ยังไม่มี ก็ลองทำตามวิธีในบทความนี้ และบทความเก่าดูนะครับ

ผมจะอนุมานว่ามีกันหมดแล้ว ต่อไปจะอธิบาย Concept อะไรอีกสักเล็กน้อย ก่อนที่จะเริ่มอธิบาย code กัน

AndroidManifest.xml

ไฟล์นี้ เปรียบเสมือนไฟล์สารบัญ และเอกสารอ้างอิงครับ รายละเอียดของโปรแกรมจะอยู่ในนี้ ในขั้นต้นเราจะไม่ไปยุ่งอะไรมากครับ ถึงเวลาแล้วจะค่อยบอกอีกที แต่ให้รู้ว่าไฟล์นี่สำคัญ และต้องปรับแต่งก่อนที่จะ export แอพออกไปใช้งานครับ

assets

folder นี้จะใช้เก็บไฟล์ส่วนประกอบทั้งหลายแหล่ ที่จำเป็นต้องใช้ใน แอพฯ เราขณะ run time ครับ สำหรับ project thai pilot pray ก็จะมี folder audio ไว้เก็บเสียงสวดมนต์ , text ไว้เก็บบทสวดมนต์ , และไฟล์ praylist.xml ไว้เก็บรายละเอียดของแต่ละบทสวด เพื่อนำไปใช้ในแอพฯ เป็น database อีกประเภทหนึ่ง คือ แบบเก็บไว้ในไฟล์ ยังไม่ใช้แบบ SQL ครับ

res

folder นี้เก็บไฟล์ที่จะนำมาประกอบกันเป็นแอพฯ ครับ เป็นพวกรูป drawable หรือ layout อย่างที่อธิบายไปเมื่อบทความก่อน ฯลฯ อะไรที่จะนำมาใช้ในการสร้างแอพก็นำมาใส่ไว้ในนี้ครับ ไม่สับสนกับ assets นะครับ อันนั้นคือ folder ที่เก็บไฟล์ที่เราจะใช้ตอนเปิดแอพฯ บนเครื่องแล้ว

ต้องมีเป้าหมาย...

1. เริ่มต้นคิดก่อนว่าเราจะทำแอพอะไร จากตัวอย่างที่เรามี ซึ่งสำหรับแอพ Thai Pilot Pray คุณลักษณะ ก็จะมี ข้อความที่เลื่อนได้, และควบคุมเสียง พร้อมกับมี playlist
 
playlist ของ thai pilot pray

ข้อความเลื่อนได้ ในขณะเดียวกันก็เล่นไฟล์เสียงไปด้วย พร้อมตัวควบคุม และ Seek bar (ด้านบน ฟ้าๆ)

จาก Code ที่มีข้างต้น ผมจะลองทำอีกแอพ แต่พื้นหลังนิ่งๆ จะแสดงภาพ VDO ไปด้วย ส่วนข้อความที่เลื่อนๆ จะทำให้แคบลงหน่อย คล้ายๆ กับ แอพฯ คาราโอเกะ ไรงั้น

สำหรับทุกท่าน มีไอเดียอะไร ก็ลองประยุกต์ดูนะครับ เมื่อพร้อมแล้วก็ขั้นตอนต่อไปครับ ^_^

2. ไอเดียมีแล้ว ต้นแบบมีแล้ว เราก็จะมาแกะ code เก่ากันครับ ว่าจะเอามาประยุกต์กับ project ใหม่ของเรายังไงดี มาดู code กันก่อนดีกว่าครับ ที่ project ใหม่เรา ในแถบหน้าต่าง Package Explorer เข้าไปที่ ชื่อ Project (ของผมเป็น examproj )  > src > com.example.examproj > MainActivity.java ตามรูปครับ


ในนั้นจะมี code อยู่ส่วนหนึ่งที่ generator สร้างขึ้น อธิบายคร่าวๆ นะครับ 
  • ส่วนบนที่นำหน้าด้วย package ก็เพื่อบอกว่า ไฟล์นี้อยู่ใน package อะไร (เอาไว้อ้างอิงในไฟล์อื่นๆ project อื่นๆ ครับ)
  • import รายการ library ต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้สำหรับไฟล์นี้ครับ อันนี้ใครจำไม่ได้ หรือไม่รู้ว่าจะ import อะไรก็ไม่ต้องกลัวไปครับ เมื่อเราเขียน code เสร็จ เราสามารถกด Ctrl+Shift+O เพื่อให้ Eclipse import หรือเลือกลบตัวที่ไม่เกี่ยวข้องได้แบบ automatic ครับ สะดวกดีเหมือนกัน
  • ต่อมาเป็น block ของการประกาศ class ครับ อันนี้ผมจะไม่สอนพวก OOP หรือพื้นฐานการโปรแกรมนะครับ สามารถหาเอาได้ใน internet อันกว้างไกลครับ ^_^
อธิบายนิดหน่อยเกี่ยวกับ Class นี้ครับ 
อย่างที่รู้ครับว่าในระบบ android การกระทำหนึ่งๆ จะเรียกว่า activity เราอาจจะคิดไปได้ว่ามันเป็นหน้าหนึ่งที่ทำงานก็ได้ครับ จากรูปข้างต้น จะหมายถึงตอนนี้มีหน้าที่เรียกว่า MainActivity อยู่ครับ และตอนนี้มันก็ทำงานตาม function ที่มีอยู่ภายใน class นั่นเอง

ส่วนที่ว่าจะรู้ได้อย่างไรว่า activity ไหนเป็นตัวหลัก แล้วไปไหนต่อ เผื่อต้องการไล่การทำงานของโปรแกรม ก็ต้องไปดูใน AndroidManifest.xml ครับ ว่าประกาศ class ไหนเป็นตัวหลักไว้ ดังนี้ครับ


ไปที่ androidmenifest.xml ที่อยู่ใน project ของเราครับ กดตามในรูป คือ ให้แสดงในแบบ xml ไฟล์ แล้วดูที่กรอบเลข 2 ครับ ตรงนี้คือ MainActivity ซึ่งตัว name นั้น เราสามารถเขียนอย่างย่อได้ โดยใส่จุดไว้ตรงหน้าแบบนี้ครับ android:name = ".MainActivity" เป็นการละตัว package ไว้ในฐานที่โปรแกรมเข้าใจ ^_^

ใน node activity จะมีตัว intent-filter อยู่ซึ่งแสดงถึง เจตจำนึงของ activity นั้นๆ ครับว่าต้องการจะทำอะไรบ้าง ในที่นี้มีอยู่ 2 ตัว คือ 
  1. action.MAIN บอกให้รู้ว่า activity นี้เป็นตัวหลักของแอพฯ นะ ไม่รับค่าใดๆ ในตอนเริ่มต้น
  2. category.LAUNCHER บอกให้ระบบของเครื่องที่ลงแอพฯ รู้ว่า แอพฯ เราจะมีหน้าจอที่จะแสดงขึ้นมา และเมื่อเปิดขึ้นมาแล้ว ให้ขึ้นอยู่บนสุดของระบบในขณะนั้นครับ
สำหรับรายละเอียดเต็มๆ ของ Intent ตามไปที่นี้ได้เลยครับ รายละเอียด Intent

ย้อนกลับมาที่ไฟล์ MainActivity นะครับ ระบบจะสร้าง default ไว้ให้อยู่ 2 Method ( Method ก็คือ function ที่อยู่ใน class ครับ ส่วนพวกตัวแปรเรียกว่า Attribute) คือ onCreate และ onCreateOptionsMenu เราจะมาสนใจที่ onCreate กันก่อนครับ

ตัว class MainActivity ถูกสืบทอดมาจาก class เดิม คือ Activity ซึ่งในนั้นจะมี Method onCreate อยู่ด้วย โดยทั่วไปเราจะทำการ Override มาใช้ใหม่ในรูปแบบของเราครับ ซึ่ง 2 บรรทัดที่มีใน Method นี้ คือ

super.onCreate(savedInstanceState);
setContentView(R.layout.activity_main);

บรรทัดแรก คือการเรียกใช้คำสั่งอะไรก็ตามที่มีใน method เดิมครับ มีอะไรบ้างผมก็ไม่รู้เหมือนกัน แฮะๆ -_-"
บรรทัดที่สอง คือการสร้าง View มารองรับเพื่อแสดงผลออกหน้าจอ ในยามที่แอพฯ ถูกสร้างขึ้นมา ตรงนี้จะใช้ ID เรียกครับ นั่นคือ R.layout.activity_main จะเป็นตัวแปรที่อ้างอิงกับ layout activity_main ใน folder res/layout ของ project

ปัญหาที่พบในส่วนนี้ก็คือ บางที R กลับขึ้นขีดแดง แล้วเรียกใช้ไม่ได้ พอรันก็พบ error ไม่สำเร็จ แจ้งว่า "R cannot be resolved to a variable" มีแนวทางแก้ปัญหาพวกนี้ประมาณนี้ครับ
  • ตรวจสอบดูในไฟล์ layout ที่เรียกครับ ว่ามีอะไรที่ผิดพลาด ขึ้นแดงรึเปล่า (ชื่อไฟล์อยู่อันสุดท้ายครับ คั่นด้วยจุด ตรงกลางคือ folder)
  • บางทีเป็นเพราะ import android.R; เข้ามาที่ส่วนการ import ด้านบนครับ ต้องเอาออกนะครับ เพราะอันนั้นจะเป็นของ lib ใน android เอง คนละส่วนกับ R ของ project เราครับ
  • ตรวจสอบดู ไฟล์ R.java ที่อยู่ใน folder gen > ชื่อ package ครับ ว่ามีหรือเปล่า ถ้าไม่มีก็คือ ระบบสร้างไม่ได้ครับ มี error อะไรสักอย่างอยู่ใน res แน่ๆ ครับ ลองหาดู
เมื่อทำการแก้ไขปัญหาเสร็จแล้ว ก็กด Clean หน่อยนะครับ เป็นวิธี Rebuild Project ใหม่ครับ โดยไปที่ Project > Clean... 

ตอนนี้ทุกท่านสามารถรู้ได้แล้วนะครับ ว่าจะไล่โปรแกรมกันยังไง ในระบบ android จะเริ่มจุดไหน บทความหน้า จะกำหนดสิ่งที่ต้องมีในโปรเจ็คใหม่ และค่อยๆ แกะโปรเจ็ค Thai Pilot Pray เพื่อ Copy เอาบางส่วนที่ต้องใช้งานมาครับ

ขอบคุณที่อ่านครับ...

วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

[Android] พัฒนาแอพจากแอพจริง Thai Pilot Pray (4)


ก่อนจะเริ่ม Coding เรามาพูดกันเรื่อง Activity, Intents และ Layout ของ android กันครับ ซึ่งเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจก่อนพัฒนาแอพฯ บนระบบ android ครับ (แต่ไม่ต้องเข้าใจลึกก็ได้ครับ ผมเองก็ไม่ได้ลึกซึ้งอะไรเท่าไร ก็ทำแอพได้ครับ)

Activity
แปลตามตัวก็คือ กิจกรรม สำหรับในการพัฒนา android แล้ว กิจกรรมที่ว่านี้ก็จะเป็นการดำเนินการ (action) ต่างๆ ของแอพฯ ที่ทั้งตอบโต้ และไม่ตอบโต้กับผู้ใช้ครับ activity เป็น 1 ใน 4 ของ application components ซึ่งประกอบไปด้วย

  1. Activity
  2. Services
  3. Content Providers
  4. Broadcast receivers (Intents จะอยู่ในส่วนนี้ครับ) 
ใครที่อยากทราบรายละเอียดลึกๆ ก็ไปหาอ่านได้จากต้นฉบับที่นี่เลยครับ http://developer.android.com/guide/components/fundamentals.html



Intents
ตัวนี้อธิบายยากครับ -_-" เพราะ abstract มาก ผมจะอธิบายตามความหมายที่ผมเข้าใจนะครับ ซึ่งต้นฉบับมาจากนี่ครับ http://developer.android.com/reference/android/content/Intent.html

intents ตามความหมายมันคือ "เจตจำนง" ของสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในระบบ android ครับ ดูจะเวอร์เป็น The Matrix มั้ยครับ แต่ถ้าเข้าใจความหมายคำว่า "เจตจำนง" แล้วก็จะนึกออกครับว่า intents นั่นมีวัตถุประสงค์เพื่ออะไรในระบบ android
เจตจำนง คือ ความมุ่งหมาย ความประสงค์ มุ่งหวัง ตั้งใจ โดยตัว Intents จะถูกสร้างจาก application components ทั้ง 4 เพื่อให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจจะเป็นสิ่งเล็กๆ แค่ส่ง-รับ ค่า จาก activity หนึ่ง ไปอีก activity หนึ่ง หรือตัวแอพฯ ของเรา เรียกหา intents ที่ broadcast อยู่ในระบบ ซึ่งถูกสร้างจากแอพฯ อื่นๆ  แล้วเอามันมาใช้งานก็ได้ เช่น intents share ที่จะ share สิ่งที่เราต้องการไปยังแอพฯ อื่นๆ อย่าง facebook เป็นต้น

intents ประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ action และ data ครับ


Layout
ปัญหาลำดับต้นๆ ของผู้พัฒนา android คือ fragmentation หรือ device ที่มีขนาดจอหลากหลายมากในโลก เพราะฉะนั้น concept ของการพัฒนาแอพฯ แอนดรอย์ ก็จะเป็นไปในแนวทางเดียวกับเว็บครับ คือ ควรยืดหยุ่น และรองรับหน้าจอที่แตกต่างกันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 


แนวทางหนึ่งที่ผมใช้แก้ปัญหาดังกล่าวก็คือ การสร้าง folder สำหรับ layout อันหลากหลายไว้ให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้

จากภาพ จะเห็นว่า ใน folder res มี folder ที่นำหน้าด้วย layout หลายตัวทีเดียว นี้เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลพอสมควรครับ กับการสร้างแอพฯ เพื่อใช้กับขนาดหน้าจอที่หลากหลาย แต่ถ้าจะให้ดี ควรเพิ่มให้ครอบคลุมให้มากที่สุดครับ ก็คือ layout แล้วขีดกลาง ตามด้วยขนาด และก็ขีดกลาง ตามด้วยแนวการแสดงผล เช่น layout-small-land จะหมายถึง layout สำหรับขนาดหน้าจอขนาดเล็กแบบแนวนอน 

ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะตัดสินใจแยก layout ด้วยอะไรครับ หลักๆ จะมีอยู่ 2 แบบ คือ

  • xlarge screens are at least 960dp x 720dp
  • large screens are at least 640dp x 480dp
  • normal screens are at least 470dp x 320dp
  • small screens are at least 426dp x 320dp
แบบนี้เป็นแบบเก่าครับ แต่ถ้าจะพัฒนาตั้งแต่ android 3.2 ขึ้นไป ก็จะนิยมใช้แบบนี้ครับ

  • 320dp: a typical phone screen (240x320 ldpi, 320x480 mdpi, 480x800 hdpi, etc).
  • 480dp: a tweener tablet like the Streak (480x800 mdpi).
  • 600dp: a 7” tablet (600x1024 mdpi).
  • 720dp: a 10” tablet (720x1280 mdpi, 800x1280 mdpi, etc)
คำว่า dp (density independence)  คือ ความหนาแน่นใน 1 จุด pixel นะครับ เพราะฉะนั้นเราจะนับหน้าจอเป็น Resolution แบบ pixel ไม่ได้ครับ เพราะเครื่องที่ pixel เท่ากัน แต่ความหนาแน่นไม่เท่ากัน การแสดงผลไม่เหมือนกันครับ

จะรวมใช้ทั้ง 2 แบบก็ได้นะครับ เพื่อการรองรับที่ดีขึ้น ส่วนการตั้งชื่อ folder layout ก็จะเป็นแบบนี้ครับ

ก็ตั้งมันเข้าไปครับ 555+ ตรงนี้ถ้าคนพัฒนามีคนที่ทำ graphic โดยเฉพาะก็จะสบายหน่อย คือ นั่งทำมันแต่ layout เนี่ยแหละครับ และถ้ารวม folder layout ทั้งหมดด้วยแล้ว (รวมแบบ layout-sw320dp ฯลฯ) สนุกเลยครับงานนี้ จุดนี้เป็นจุดที่ android แตกต่างจากการพัฒนา device ฝั่ง apple ครับ เพราะหน้าจอนั่นเอง

บทความหน้าจะเริ่ม coding Activity แรกกันเลยนะครับ พร้อมกันก็จะอธิบายตัวโค้ดของ Thai Pilot Pray ด้วยครับ

วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

[Android] พัฒนาแอพจากแอพจริง Thai Pilot Pray (3)

ตอนที่แล้วเป็นการแนะนำ Android SDK ซึ่งมาอ่านดูก็รู้สึกว่าจะเขียนรวบรัดไปหน่อย แม้ว่าทุกท่านจะหาอ่านได้จากที่อื่นก็เถอะ แต่เราก็น่าจะเขียนให้เป็นแบบ Step by Step ดีกว่า เดี๋ยวจะเขียนแบบละเอียดอีกครั้งแล้วกันนะครับ ตอนนี้ถือก่อนว่าทุกท่านมี Icon Eclipse ของ Android SDK และสามารถเปิด และสร้าง Project กันได้แล้ว

ส่วนเรื่อง Emulator ของ Android ผมไม่ค่อยได้ใช้อ่ะครับ และก็ไม่แนะนำนะ ผมใช้ Device จริงในการทดสอบ เพราะมันเร็วกว่า แล้วก็ใกล้เคียงกับสถานการณ์จริงมากกว่า

เอาล่ะ! มาสร้าง Project Android กันเลยครับ


1. หลังจากเปิดโปรแกรมขึ้นมาแล้ว กดที่ File > New > Android Application Project กันเลยครับ ซึ่งทุกท่านสามารถสร้าง project ใหม่ได้หลายแบบ ตามวงกลมที่แสดงไว้ในรูป คือ ที่ menu, toolbar, และ คลิกขวาที่ Package Explorer แล้วเลือกตามรูปด้านบน


2. เมื่อเลือกเสร็จ โปรแกรมจะแสดง Dialog ขึ้นมา ให้เรากรอกรายละเอียดของโปรแกรมใหม่ลงไปตามรู้ด้านล่างครับ


Application Name : ก็คือชื่อของ แอพของเรา ตามใจเลย
Project Name : ชื่อของ project ที่จะแสดงที่หน้าต่าง Package Explorer ด้านข้าง
Package Name : ชื่อ Package ของ แอพ 
( package แปลตรงตัวว่า หีบห่อ ในที่นี้เอาไว้ห่อหุ้มตัว Project เอาไว้ เพื่อแสดงถึงแหล่งที่มา และไม่ให้ไปซ้ำกับ Project อื่นๆ การตั้งชื่อ Package ตามรูปแบบที่นิยมกันส่วนหนึ่งจะเป็น {ลักษณะการใช้งานของแอพ}.{ผู้พัฒนา}.{Project ที่พัฒนา} เช่น com.pilotpol.thaipilotpray แต่จะตั้งเป็นแบบอื่นก็ได้นะครับ ซึ่งจุดที่คั่น ก็คิดเสียว่า เหมือนกับ folder ที่แยกรายละเอียดอื่นๆ ให้เป็นระเบียบนั่นเอง)

ถัดลงมาเป็น
Minimum Required SDK : ตัว API เวอร์ชั่น ของ android ที่จะให้รองรับได้น้อยที่สุด สำหรับผมไม่ทำแอพที่รองรับ 2.2 แล้ว เพราะฉะนั้นเริ่มจาก 2.3.3 เลย ตรงนี้ยิ่งเลือกให้รองรับน้อยเท่าไร เครื่องที่ใช้ได้ก็ยิ่งเยอะ แต่ความหลากหลาย และความสามารถใหม่ๆ บางอย่างที่มีใน API ใหม่ๆ บางอันเราก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน
Target SDK : เป้าหมายของเครื่องที่จะรันโปรแกรมเรา
Compile With: ตัว library ที่จะใช้ในการแปลรหัสโปรแกรม ผมเลือกตัวล่าสุดครับ ซึ่งก็จะรองรับ ความสามารถสำคัญๆ หลักๆ ของเวอร์ชั่นก่อนๆ ได้ แต่บางอันก็ถูกยกเลิกไปเหมือนกัน
Theme : รูปร่างหน้าตาของ control หลักๆ ในโปรแกรม อย่างพวกปุ่ม เส้น สี
ในขั้นต้นเลือกตามแบบผมแบบในรูปไปก่อนก็ได้ครับ จากนั้นกด Next เลย ครับ


3. Dialog นี้จะสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมอื่นๆ 
Create custom launcher icon : เลือกเพื่อให้ android SDK สร้าง icon สำหรับแอพ โดยอัตโนมัติในทุกความละเอียด
Create activity : สร้าง activity ให้กับแอพ ใน android Activity คือ ตัวกิจกรรม เมื่อจะทำงาน ซึ่งเดี๋ยวผมจะอธิบายเรื่อง activity ละเอียดอีกครั้ง ตอนที่จะเริ่ม Code ครับ
Mark the project as a library : ทำโปรเจ็ค ให้เป็น library ไฟล์ ในที่นี่ไม่ต้องครับ
Create Project in Workspace : จะสร้างไฟล์โปรเจ็คใน workspace ของเราหรือไม่
Working sets : อันนี้ไม่เคยได้ใช้เลยอ่ะครับ คงจะเป็นการแบ่งกลุ่ม Project ที่ทำงาน เดี๋ยวจะหาข้อมูลอีกครั้งครับ
จากนั้นกด Next> เลยครับ

4. ถ้าหน้าเมื่อกี้ คลิกเลือกช่องแรก ว่าให้โปรแกรมสร้าง Icon ตามความละเอียดต่างๆ ให้ ก็จะขึ้นหน้าสร้าง Icon ครับ เมื่อเลือกรูปแบบ Icon ที่ถูกใจได้แล้ว ก็กด Next> ต่อครับ

5. หน้าต่อมาจะเป็นการสร้าง Activity ให้กับแอพ ในที่นี้เลือก Blank Activity ครับ เสร็จแล้วคลิก Next> 

6. ใส่ชื่อ Activity เริ่มแรกก็ใส่เป็น MainActivity ไปก่อนครับ ตรงนี้จะถูกนำไปสร้างเป็น Class ด้วยนะครับ สำหรับควบคุมการทำงานของ Activity นั้นๆ
อีกช่องถัดลงมาคือ layout Name : หน้า View สำหรับแสดงของ Activity นั้นๆ ครับ
Navigation Type เลือกเป็น none ครับ

แล้วก็คลิก Finish เลยครับ


7. ระบบจะสร้างโครงสร้างต่างๆ ขึ้นแบบอัตโนมัติใน folder ของ Project เรา ตรงนี้เดี๋ยวจะอธิบายอีกครั้งครับ ตอนทำหน้า View ของ แอพ

8. ระบบจะพามายังหน้า View แรกของแอพ แบบกราฟฟิก โดยเราสามารถกดที่ Tab ด้านล่างที่เป็นนามสกุล .xml เพื่อดูแบบ code xml ของหน้าวิวเราได้ครับ



9. จากนั้นก็ลองรันดูเลยครับ โดยที่หน้าต่าง Package Explorer ให้คลิกขวาที่ชื่อโปรเจ็ค แล้วเลื่อนลงมาเลือก Run as จากนั้นเลือกอันแรก ก็จะปรากฏหน้าต่างขึ้นมาเพื่อให้เราเลือกว่าจะใช้อะไรรันแอพ ในที่นี้ของผมจะเลือก device ที่เชื่อมต่ออยู่ ก็แค่เสียบสายเชื่อมต่อกับเครื่องนะครับ อ๋อ ที่เครื่องก็ต้องตั้งค่าสำหรับ develop ไว้ด้วยนะครับ ตามนี้ครับ ที่ device 1. ตั้งค่า > ความปลอดภัย > ไม่ทราบแหล่งข้อมูล เพื่อติดตั้งแอพจากแหล่งอื่นได้ครับ 2. ตั้งค่า > ตัวเลือกสำหรับผู้พัฒนา > การดีบัก USB

เท่านี้แอพแอนดรอย์ก็ถูกสร้างแล้วครับ ง่ายมากๆ เลยใช่มั้ยครับ แต่ถ้าหากจะทำเป็น apk เพื่อติดตั้งผ่าน google play ก็ต้อง export ครับ ซึ่งนั่นเดี๋ยวจะบอกอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนอันนี้เป็นไฟล์ Source Code ของ Thai Pilot Pray ครับ

ดาวน์โหลด แล้วสร้าง Project แบบ existing ตามนี้ครับ
1. เลือก New > Project
2. ที่ Dialog ที่ขึ้นมา เลือก Android Project Existing Code แล้วกด Next
3. เลือก Folder ที่แตกไฟล์ของ Thai Pilot Pray ไว้ ด้วยการกด Browse... ที่ Root Directory จะเห็น project ที่สามารถสร้างขึ้นได้ ติ๊กถูกที่หน้า Project แล้วคลิก Finish ครับ
4. คลิกขวาที่ชื่อ Project แล้ว Run ดูครับ

เดี๋ยวบทความหน้า จะอธิบายแบบ Step by Step ตั้งแต่ Concept การเริ่มต้นทำ Project เลยครับ


เมื่อผมได้ดู Star Trek : INTO DARKNESS



วันนี้ไปดูหนังเรื่องนี้มา ก็อารมณ์ยังคุกรุ่นอยู่เลยอยากจะ review เสียนิดหน่อย ไม่ได้มีไรมาก และไม่เหมือนนักรีวิวมืออาชีพทำกัน ^_^

ผมเองก็แก่พอประมาณที่จะทันรุ่นแรกๆ ของ star trek อยู่บ้าง แต่ที่สนใจจริงๆ จังๆ ก็คือ ภาคแรกที่ออกมาช่วง 2-3 ปีก่อน (พอดีไม่ได้หาข้อมูล) ที่ทำได้ดี และมีอะไรที่นอกเหนือจากฉาก Action Sci-FI

ภาคนี้ ตามความเห็นก็ถือว่าเจ๋งสุดๆ ยิ่งกว่าภาคแรก คือสำหรับตัวผมเอง ชอบเรื่องนี้มากกว่า Iron Man 3 ที่เข้าช่วงเวลาเดียวกันอ่ะครับ ผมไม่รู้เป็นไรกะหนังฟอร์มยักษ์ภาคที่ 3 ที่ดูแล้ว Fail ทุกที (ไม่รู้ภาค 3 ของ star trek จะเป็นรึเปล่า แต่ภาค 2 ของทุกทีกลับทำให้ผมรู้สึกดีแบบเดียวกัน)

เนื้อหากระชับ ตัดต่อได้ฉับไว และทำได้ดีเป็นเนื้อหาต่อเนื่องกัน เข้าถึงเป้าหมายของแก่นเรื่องได้อย่างพอดีตรงเวลา เป็นอีกเรื่องที่ต้องยกย่องผู้กำกับเรื่องนี้ทีเดียว (เห็นว่ากำลังจะไปกำกับ star war ใหม่)

สรุปแล้วเป็นหนังที่เจ๋งอีกเรื่องหนึ่งทีเดียว ตัวร้ายก็มีเหตุผลที่ดีรองรับ ไม่หักมุมแบบไม่มีที่มาที่ไป ...ก็ไม่รู้จะรีวิวยังไงไม่ให้เป็นการสปอยไปได้ จะเจาะไปที่เฉพาะเนื้อหาที่ผมได้รับมาแล้วกันนะครับ ซึ่งก็จะมีประสบการณ์ส่วนตัวเลือกที่จะรับสาสน์นี้อยู่

ผมชอบประเด็นตอนที่ กัปตันเคิร์ก มอบหมายให้คู่ขา เอ้ย คู่หู คุณสป๊อกของเรา มาทำหน้าที่กัปตันแทน ส่วนตัวเขาจะไปทำอย่างอื่น ที่เป็นการตัดสินใจด้วยอารมณ์ ผมชอบคำพูด ที่ถ่ายทอดออกมา ประมาณว่า ตัวกัปตันนั้นทำทุกอย่างตามสัญชาติญาณ เจออะไรก็ไปเรื่อยๆ แบบว่าไหลไปตามสถานการณ์ ส่วนมิสเตอร์สป๊อกนั้นกำกับทุกอย่างด้วยเหตุผล รู้ว่ากำลังทำอะไร และจะเจออะไร

ตอนคุณกัปตัน และมิสเตอร์สป๊อกฟินกัน (แบบว่าเอามือมาแปะกันอย่างซาบซึ้งผ่านกระจกกั้น -_-" อย่างกับคู่ตุนาหงัน แจ็คกะโรส เลย) มันเป็นอะไรที่ผมเองก็จะร้องไห้เหมือนกันนะ ดึงอารมณ์ได้ดีเลย เรียกว่าหนังเรื่องนี้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ถูกต้องทีเดียว เพราะถ้าเป็นหญิงชาย ร้องไห้ใส่กัน ผมจะไม่อารมณ์แบบนี้เลย สำหรับคนที่เป็นผู้ชายที่ชอบเรื่องราว Sci-fi เรื่องแบบนี้อย่างที่รู้ว่า ผู้หญิงจะมีบทบาทน้อย เลยเล่นอารมณ์กับผู้ชายซะงั้น เจ๋งจริงๆ


ช่วงนี้ผมกำลังสับสนเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต ซึ่งสาสน์ที่ได้รับ ผมก็เลือกที่จะรับแนวๆ นี้ หรือแปลงมันมาเป็นแนวนี้ เรื่องนี้ให้เรื่องความสมดุลระหว่าง อารมณ์กะเหตุผล ผมเองเป็นประเภททำตามอารมณ์เสียเป็นส่วนมาก จำพวกนายเคิร์ก มีอะไรก็แก้ไขไป บางเรื่องก็ทำให้เสียการณ์เสียงานไปเยอะเหมือนกัน ถ้าจะเอาเหตุผลมากำกับไว้บ้างก็น่าจะดี

เหมือนไม่ได้รีวิวอะไร ก็ระบายอารมณ์ที่คั่งค้างเท่านั้นเอง ^__^

วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

[Android] พัฒนาแอพจากแอพจริง Thai Pilot Pray (2)

มาเริ่มจากการติดตั้งเครื่องมือพัฒนากันครับ ส่วนตรงนี้ของผมใช้ระบบ Windows นะครับ ส่วนใครที่ใช้ OS อื่นๆ อย่าง linux ก็ทำได้คล้ายๆ กันครับ


1. JDK (Java Development Kit) ส่วนนี้สำคัญมากครับ เพราะเป็นรากฐานของเรื่องราวทั้งหมด ^_^ ผมใช้ JDK 7 (ล่าสุดตอนนี้อ่ะครับ) ก็ดาวน์โหลดมาลงก่อนนะครับ ถ้าใครยังไม่มี JRE (Java Runtime Environment) ก็ดาวน์โหลดมาติดตั้งเพิ่มเติมด้วยครับ

Download JDK

อธิบายนิดหน่อยกับ Java :  สมัยก่อนผมก็งงๆ นะ เพราะมันมีคำย่อเยอะเหลือเกิน ทั้ง JDK, JRE, J2EE , JAVA SE, JAVA ME, JAVA FX ฯลฯ ไรอีกเยอะแยะไปหมด เอาเป็นว่าง่ายๆ ดังนี้ครับ คือ
 - JDK คือ ชุดคำสั่งสำหรับการพัฒนา อะไรที่ลงท้ายด้วย DK นี่ก็จะเกี่ยวกับการพัฒนาครับ
- JRE คือ ชุดโปรแกรมที่จะใช้เปิดโปรแกรมที่พัฒนามาจาก Java
นอกจากนี้ยังมี
- Java SE เป็นชื่อเรียกของ Platform การพัฒนาครับ ซึ่งที่เราใช้นี่ก็เป็น JDK ของ Java SE แบบเนี้ยครับ แล้วพวก J2EE, JavaME ก็เป็น Platform เช่นเดียวกันครับ
พอสังเขปนะครับ



2. Android SDK ปัจจุบันผมยังใช้ตัวนี้อยู่ครับ แต่อนาคตไม่แน่ว่าคงเปลี่ยนไปใช้ Android Studio รอให้เป็น version 1 ก่อน แต่ตัวนี้ก็ดีมากนะครับ ลงครั้งเดียวได้ครบเลย อำนวยความสะดวกมาก สมัยที่มี android 2.2 ผมเริ่มคิดจะเขียน ตอนนั้นต้องหาตัวนั้นตัวนี้มาลงประกอบกัน ยุ่งยากพอสมควรเลยทีเดียว

Android SDK

ในชุด SDK นี่จะประกอบไปด้วย
 - Eclipse : โปรแกรม IDE ที่สร้างจาก Java ยอดนิยม ที่หลายๆ ค่าย เอา Source code มาพัฒนาต่อเป็นของตัวเองครับ
- ADT plugin : Android Development Tools เป็นตัว plugin เพื่อให้ Eclipse สามารถใช้งาน Android ได้สะดวกครับ
- SDK platform : ชุดพัฒนา Android platform นั่นเองครับ 

การติดตั้ง
เห็นใน http://developer.android.com/sdk/installing/bundle.html เขาบอกว่าง่ายๆ เพียง 2 ขั้นตอน คือ
1. upzip ไฟล์ที่ download มาไปไว้ที่ใดที่หนึ่ง เช่น C:/android/
2. เข้าไป folder นั้น แล้วไปเปิดไฟล์ .../eclipse/eclipse.exe ขึ้นมา

จริงๆ มันก็เท่านั้นแหละครับ แต่ว่าใน windows ถ้าให้ดียังมีการ setting PATH ของทั้ง Java และ Android SDK แล้วก็การ update อะไรอีก ซึ่งหาได้จาก Blog หรือเว็บที่เขียนแนะนำทั่วไปได้ไม่ยากครับ สำหรับผมขอเว้นไว้แล้วกันนะครับ จะได้เข้าเรื่องกันเสียที

ตอนหน้า เริ่ม Project กันล่ะครับ...

[Android] พัฒนาแอพจากแอพจริง Thai Pilot Pray (1)

ก้าวไหนก็ไม่สำคัญเท่าก้าวแรก...

แอพตัวนี้เป็นแอพแรกของผมเอง จัดทำขึ้นมาเพื่อเป็นธรรมทาน จริงๆ ก็ตั้งใจทำหนังสือแจกอยู่แล้วล่ะนะ แต่ว่าไม่มีงบ พอดีเข้าสู่ยุคแห่ง Mobile Device ก็เลยศึกษาและทำขึ้นมาครับ ต้นทุนก็ถูกหน่อย อาศัยที่มีความเข้าใจด้าน Programming อยู่แล้ว เลยเริ่มทำครับ

ช่วยดาวน์โหลดมาดูก่อนแล้วกันนะครับ ^_^







Thai Pilot Pray















































ตอนหน้า จะเริ่มจากการลงเครื่องไม้เครื่องมือ เพื่อพัฒนา Android บน Windows OS นะครับ

วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เปิดประเด็น blogger

สวัสดีครับ ชาวโลก,


เนื่องด้วยตอนนี้ก็อายุอานามปาเข้าไปเยอะแล้ว ก็อยากจะแบ่งปันประสบการณ์ และจดบันทึกเรื่องราวการเดินทางของความรู้ตัวเองด้วย ว่าชาตินี้ได้ใช้ชีวิตไปกับอะไรที่เป็นประโยชน์บ้าง คิดๆ ไป ทุกอย่างที่ผ่านเข้าหัวมา ถ้าไม่ใช้มันก็จะลืมเลือนหมด อะไรที่เรียนรู้ไปแล้วไม่ได้ใช้ ก็เหมือนจะสูญเสียเวลาไปโดยใช่เหตุ

อีกไม่กี่วันสำหรับผมก็ 34 ปีพอดี เริ่มต้นเขียน Blog ของตัวเองตอนนี้ รู้สึกเหมือนลุงแก่ๆ ที่กลัวเทคโนโลยียังไงไม่รู้ ทุกปีๆ เทคโนโลยีที่ก้าวเข้ามาในชีวิตประจำวัน นับวันก็มีแต่จะก้าวกระโดด ไปไกลเกินกว่าที่จะเรียนรู้ได้ทัน ของเก่าๆ ที่อยู่ในหัว บางอย่างก็หมดสมัย และไม่จำเป็นอีกต่อไปเสียแล้ว

ช่วงชีวิตของผมตั้งแต่เริ่มแสวงหาความรู้มา ก็คงพอแยกแยะได้บ้างว่าตัวเองชอบด้านไหน และถ่ายทอดอะไรกลับคืนไปได้ดีที่สุด ผมเลยจะแบ่งเนื้อหาของ Blog ตัวเองออกเป็นส่วนๆ ดังนี้นะครับ



1. Web Development
ช่วงเวลานี้ถนัดที่สุดในเรื่องนี้ อนาคตไม่แน่ไม่นอน แต่คงทำเป็นเนื้อหาได้ดีที่สุด แน่นอนว่าเนื้อหาคงซ้ำไปมาทั่วโลกอยู่แล้ว หรือผมอาจจะเอาจากคนอื่นมาบ้าง และจากประสบการณ์ตัวเองที่เจอมาบ้าง ก็จะค่อยๆ เล่าไปเรื่อยๆ เก็บไว้เผื่อใครสืบค้นแล้วหลงทางผ่านเข้ามาอ่าน



2. Publication
เรื่องการทำสื่อสิ่งพิมพ์ และอะไรต่อมิอะไรที่เจอมาเกี่ยวกับงานด้านนี้ อันนี้เป็นงานที่ถนัดมาก่อนจะทำ Web



3. Buddhism
ศาสนาพุทธ ที่ผมเข้าใจและรู้จัก เพราะความจริงของทุกสิ่ง คือ แล้วแต่มุมมองของผู้คน ผมชอบบางบทบางตอนของพระไตรปิฎก ก็จะหยิบยกมา แล้วก็สาธยายสู่กันเพื่อเกิดมุมมองใหม่ๆ ให้ใครบางคนที่อาจไม่มีมุมมองแบบผม



4. Business
ผมจบด้านบริหารธุรกิจ ความฝันหลักๆ ก็เป็นเรื่องการทำธุรกิจ ล้มลุกคลุกคลานมาเยอะ และยังล้มลุกคลุกคลานอยู่ต่อไป สักวันหนึ่งอาจจะถึงฝั่งฝัน 



5. Write
งานเขียน เป็นอะไรที่ผมชอบ ผมมีหนังสือที่ได้ตีพิมพ์อยู่ แม้มันจะไม่สามารถใช้คำว่า วรรณกรรม ได้ แต่ก็เป็นอะไรที่ภูมิใจอยู่เหมือนกัน ที่เปิดทางแนวหนังสือที่ตัวเองชอบได้


6. Mobile Development
อันนี้สำหรับอนาคต ผมคงย้าย Platform ไป mobile แน่ๆ มันรู้สึกถูกชะตา และยังมีอะไรให้ค้นหาอีกเยอะ



7. Motivation
การกระตุ้นเตือนตัวเองว่าความหวัง ความฝันอยู่ที่ไหน เป็นอีกอย่างที่คนเราต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ขาดไม่ได้ เพราะสิ่งนี้เท่านั้น ที่ทำให้คน หรือสัตว์ใดๆ ก็ตาม ยังคงความหมายของชีวิตอยู่บนโลกนี้ได้

ชีวิตผมวนเวียนอยู่กับความรู้ไม่กี่อย่าง บางอย่างก็ทำให้เสียเวลาไปเฉยๆ ไม่ได้เอามาทำประโยชน์อะไร สิ่งที่จะเขียนอาจไม่ใช่ของใหม่ และอาจจะก๊อปเขามาบ้าง แต่ก็มีความเป็นตัวของตัวเองอยู่ด้วยแน่นอน

ไป...
เริ่มกันเถอะ
...